๑.สภาพทางประวัติศาสตร์
สภาพด้านประวัติศาสตร์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระประแดง แต่เดิมชื่อว่า นครเขื่อนขันธ์ อันเป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรีทรงพระราชทานไว้ เมื่อครั้งทรงสร้างเมือง สร้างป้อมปราการ แล้วสถาปนาให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ในขณะเดียวกันก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญจากเมืองปทุมธานี อันประกอบด้วยชายฉกรรจ์ ๓๐๐ คน มาประจำอยู่ที่นี่ ดังนั้นคนพื้นเมืองส่วนใหญ่ จึงเป็นชาวมอญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นจังหวัดพระประแดง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระองค์จึงเปลี่ยนสถานภาพจังหวัดพระประแดง มาเป็นอำเภอพระประแดง สังกัดจังหวัดสมุทรปราการ
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ จังหวัดสมุทรปราการ ได้ถูกยุบ มีฐานเป็นอำเภอสมุทรปราการ ไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร อำเภอพระประแดง จึงไปขึ้นกับจังหวัดพระนครด้วย ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ อำเภอสมุทรปราการ ได้ยกฐานะเป็นจังหวัดสมุทรปราการขึ้นอีกครั้งหนึ่ง อำเภอพระประแดง จึงกลับไปขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการตามเดิมจนถึงปัจจุบัน
สภาพที่ตั้งและอาณาเขต อำเภอพระประแดง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ครอบคลุมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมพื้นที่ ๗๓,๙๙๗ ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นที่ราบลุ่ม
๒.สภาพของสังคม การปกครองประชากร และการปกครองคณะสงฆ์
ปัจจุบันสภาพสังคมของอำเภอพระประแดง เป็นชุมชนเมือง บางพื้นที่เป็นชุมชนอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม แต่เดิมชาวพระประแดง ส่วนมากสืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ แต่ปัจจุบัน นี้เป็นคนไทยเชื้อสายไทย สัญชาติไทยหมดแล้ว เดิมประชาชนประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกผักและผลไม้ โดยอาศัยแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ ในการเพาะปลูกพืช มีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต่อมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันออก ทำการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอื่น ๆ ต่อจากการขยายตัวทางอุตสาหกรรม ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดมลภาวะน้ำเน่าเสียไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร การปลูกพืชไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น จึงมีประชาชนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้อำเภอพระประแดง เป็นเขตชุมชนที่หนาแน่น
ชุมชนวัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่ ชุมชนบางกลุ่มยังทำการเกษตรอยู่ และประชากรในพื้นที่ ที่เป็นคนในพื้นที่ปัจจุบัน ไม่ใช่คนพื้นที่ที่ตั้งฐานมาตั้งแต่ต้น มีการย้ายเข้า และย้ายออกตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ในพื้นที่วัดโปรดเกศเชษฐาราม จะเป็นชาวอีสาน จำนวนมาก หาเช้ากินค่ำ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ใหม่ ไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร ที่มาปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ จะเป็นคนในพื้นที่เดิม ที่ยังทำบุญกับทางวัดโปรดเกศเชษฐารามอยู่ กล่าวโดยเฉลี่ยประชากรในชุมชนวัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นประชากรใหม่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ประชากรเดิม ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และในประชากรใหม่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเยาวชนประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นจุดด้อยของทางวัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นผลให้ผู้ปฏิบัติธรรมในวัด มีน้อย ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ในหลาย ๆ ครั้ง
สภาพการของพื้นที่การปกครองและประชากร มีลักษณะการปกครอง ๔ แบบ ได้แก่
๑.องค์การบริหารส่วนตำบล (๖ ตำบล, ๖๗ หมู่บ้าน)
๒.เทศบาลเมืองพระประแดง (๑ ตำบล)
๓.เทศบาลตำบลลัดหลวง (๓ ตำบล, ๔๓ หมู่บ้าน)
๔.เทศบาลตำบลสำโรงใต้ (๕ ตำบล, ๖๗ หมู่บ้าน)
สรุป รวมทั้งอำเภอมี ๑๕ ตำบล ๑๗๗ หมู่บ้าน ๖๙,๒๐๗ ครัวเรือน พื้นที่ ๗๓,๙๙๗ ตร.กม. และประชากรประมาณ ๒๐๓,๓๕๓ คน
สภาพการของการปกครองคณะสงฆ์ อำเภอพระประแดง มี ๗ ตำบลคณะสงฆ์ (๑๕ ตำบลบ้านเมือง) มีวัด ๓๘ วัด (มหานิกาย ๓๖ วัด ธรรมยุต ๒ วัด) มีพระสังฆาธิการ ๘๖ รูป (มหานิกาย ๗๘ รูป ธรรมยุต ๘ รูป)
๑.ตำบลตลาด มีวัดจำนวน ๕ วัด ได้แก่
๑.วัดคันลัด
๒.วัดทรงธรรมวรวิหาร
๓.วัดจากแดง
๔.วัดแค
๕.วัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์
๒.ตำบลบางยอ-บางกระเจ้า มีวัดจำนวน ๕ วัด ได้แก่
๑.วัดบางขมิ้น
๒.วัดกองแก้ว
๓.วัดราษฎร์รังสรรค์
๔.วัดบางกระเจ้ากลาง
๕.วัดบางกระเจ้านอก
๓.ตำบลบางกอบัว-บางน้ำผึ้ง มีวัดจำนวน ๕ วัด ได้แก่
๑.วัดป่าเกด
๒.วัดบางกระสอบ
๓.วัดบางน้ำผึ้งใน
๔.วัดบางน้ำผึ้งนอก
๕.วัดบางกอบัว
๔.ตำบลบางพึ่ง มีวัดจำนวน ๕ วัด ได้แก่
๑.วัดโปรดเกศเชษฐาราม
๒.วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร
๓.วัดรวก
๔.วัดบางพึ่ง
๕.วัดกลาง
๕.ตำบลบางครุ-บางจาก มีวัดจำนวน ๕ วัด ได้แก่
๑.วัดโมกข์
๒.วัดครุใน
๓.วัดครุนอก
๔.วัดชมนิมิต
๕.วัดชังเรือง
๖.ตำบลบางหญ้าแพรก มีวัดจำนวน ๖ วัด ได้แก่
๑.วัดท้องคุ้ง
๒.วัดกลางสวน
๓.วัดแหลม
๔.วัดบางหญ้าแพรก
๕.วัดบางฝ้าย
๖.วัดบางหัวเสือ
๗.ตำบลสำโรงใต้ มีวัดจำนวน ๕ วัด ได้แก่
๑.วัดโยธินประดิษฐ์
๒.วัดมหาวงษ์
๓.วัดสำโรงเหนือ
๔.วัดสำโรงใต้
๕.วัดสวนส้ม
๓.สภาพเศรษฐกิจชุมชน
ประชากรส่วนใหญ่ จะมีรายได้ขึ้นอยู่กับสาขาการผลิตทางธุรกิจต่าง ๆ เช่น การพาณิชย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และอาชีพรับราชการ หน่วยงานของรัฐ ประชากรประมาณร้อยละ ๕๐ ที่ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ ๙,๕๐๐ บาท ต่อเดือน หรือรายได้เฉลี่ยต่อปี ๑๑๔,๐๐๐ บาท
๔.สภาพการจัดการสอน
การจัดการเรียนการสอนกัมมัฏฐาน ของสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดสมุทรปราการ แห่งที่ ๙ วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นการสอนตามแนวมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งได้รับการยอมรับในยุคปัจจุบัน อำนวยการสอนโดย พระราชคุณาธาร เจ้าสำนักปฏิบัติธรรม พระครูวิสิฐธรรมรส อาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนา และคณาจารย์ของสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งวิทยากรของทางสำนักปฏิบัติธรรมฯ วัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งวิทยากรส่วนใหญ่ผ่านการอบรมจาก มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์ และผ่านการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ร่วมไปถึงเข้ารับการอบรมตามหลักสูตร วิปัสสนาภาวนา ของพระเดชพระคุณ พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม
ในเขตอำเภอพระประแดง มีสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๓ มีจำนวน ๓ วัดได้แก่
๑.สำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดสมุทรปราการ แห่งที่ ๑ วัดโยธินประดิษฐ์ ตำบลสำโรง อ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
๒.สำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดสมุทรปราการ แห่งที่ ๙ วัดโปรดเกศเชษฐาราม ตำบลทรงคนอง อ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
๓.สำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดสมุทรปราการ แห่งที่ ๑๐ วัดท้องคุ้ง ตำบลบางหญ้าแพรก อ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ